เทคโนโลยีสะอาดกับอุตสาหกรรมไทย (Clean Technology)

 เทคโนโลยีสะอาดกับอุตสาหกรรมไทย

(Clean Technology)

 

โดย อาจารย์ วิชัย ชุณหวาณิชย์

 

ปัจจุบันคงเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าปัญหาทางด้านมลพิษที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งได้ใช้วัตถุดิบและพลังงานจำนวนมากไปใช้ในกระบวนการผลิตให้เกิดผลิตภัณฑ์มากมาย ตามที่เราต้องการ ยังผลให้เกิด สิ่งเหลือใช้และสารอันตรายอื่นๆจากการผลิตซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา จากปัญหาดังกล่าวทำให้มีผู้พยายามแก้ไข หรือลดให้เบาบางลงโดยใช้หลักการ ทีเรียกว่า Clean Technologyเทคโนโลยีสะอาด

Clean Technology เทคโนโลยีสะอาด คือ กลยุทธ์ ในการบริหารจัดการ ด้านการผลิตหรือกิจกรรมใดๆ โดยมุ่งแก้ปัญหาที่แหล่งกำเนิด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการลดของเสีย การใช้ทรัพยากร และการใช้พลังงาน ให้น้อยที่สุดยังผลให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการประกอบการไปพร้อมๆกับลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม   โดยเน้นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง    

 

หลักการของเทคโนโลยีสะอาด

หลักการของเทคโนโลยีสะอาด มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การลดการใช้วัตถุดิบพลังงาน น้ำ สารเคมี และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เน้นที่การป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา โดยลดของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด การแยกสารพิษที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ ที่ทำให้เกิดผลพลอยได้ที่ไม่เป็นอันตรายด้วยหลักการ 3Rs คือ 

1. Reduce การลดใช้สารพิษและวัตถุดิบที่ไม่จำเป็นลง

2. Reuse การนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

3. Recycle การนำเศษหรือของเหลือกลับไปแปรรูปอีกครั้ง 

 

ขั้นตอนการทำ เทคโนโลยีสะอาด 

1)      การวางแผนและการจัดองค์กร 

2)      การประเมินศักยภาพเบื้องต้น 

3)      การประเมินรายละเอียดและศึกษาความเป็นไปได้ 

4)      ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงาน 

5)      ทบทวนผลสรุปมาตรฐานการทำงานและ ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง 

หลังจากนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ต้องมีการวางแผนและจัดการ มีการสำรวจข้อมูล ทำการประเมินเบื้องต้น และทำการประเมินในขั้นตอนต่อมา โดยในขั้นตอนการประเมินเบื้องต้นจะเกี่ยวข้องกับการสร้างแผนภาพกระบวนการผลิต พิจารณาการป้อนเข้าและการจ่ายออกของวัตถุดิบ ของแต่ละหน่วยปฏิบัติการ จัดทำสมดุลมวลสาร ทำให้ทราบปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้น รวมทั้งทำให้สามารถวิเคราะห์สาเหตุการเกิดของเสียอันนำไปสู่กระบวนการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเพื่อลดของเสียที่เกิดขึ้น โดยทางเลือกที่นำเสนอต้องมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ และทางเทคนิคสามารถคืนทุนได้ในระยะสั้น เมื่อคำนวณได้แล้วจึงดำเนินการ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

 

Visitors: 308,668